มักได้ยินได้กันอยู่บ่อยครั้งเลยนะครับกับคำว่า Startup และ SMEs ทั้งในข่าวและจากรายงาน  สำหรับธุรกิจประเภท Startup ในประเทศไทยตอนนี้ กำลังมาแรง และน่าจับตามองมากเลยทีเดียว

“และหลายคนมักจะสับสนและเข้าใจว่า Startup และธุรกิจ SMEs คือธุรกิจประเภทเดียวกัน แต่จริงๆแล้วอย่า พึ่งเข้าใจผิดนะครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดย่อมเหมือนกันแต่ถือว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย”

 

 

            ก่อนอื่นจะขอพามาทำความรู้จักกับธุรกิจประเภท SMEs ที่หลายคนรู้จักกันดีเสียก่อน เพราะว่าธุรกิจมากกว่า 95% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทยของเรานั้น (อ้างอิงข้อมูลจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.) เป็นธุรกิจ SMEs กันทั้งสิ้น เรียกได้ว่าครอบคลุมไปทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การบริการ หรือแม้แต่ธุรกิจประเภทการผลิต โดยคำว่า SME นั้นก็มาจากคำว่า Small and Medium Enterprises หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นั้นเอง โดยผมสามารถแยกออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ก็คือ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน และมีทุนจดทะเบียน น้อยกว่า 20 ล้าน และ ธุรกิจขนาดกลาง ที่มีจำนวนคนงานประมาณ 50-200 คน และมีทุนจดทะเบียน ประมาณ 20-200 ล้านบาท

 

 

และอีกประเภทหนึ่งก็คือ ธุรกิจ Startup ที่ช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ได้ยินกันบ่อยมาก และมีโมเดลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจประเภทนี้ให้เห็นกันอยู่หลายท่าน จึงเป็นแรงจูงใจอย่างดีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจ

“คำว่า Startup หมายถึงการเริ่มต้น และนี่คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจครับ แต่การเริ่มต้นแบบ Startup นั้นจะเป็นการเริ่มต้นเป็นก้าวกระโดด”

โดยธุรกิจ Startup นั้นจะเน้นไปที่การใช้ไอเดียสร้างรายได้มากกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดข้อแตกต่างกันอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจประเภท SMEs

3 ข้อแตกต่างระหว่าง SMEs และ Startup เปรียบเทียบกันจุดต่อจุด

 

 

  1. ที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือโมเดลในการทำธุรกิจ ที่เหล่านักธุรกิจ Startup มักจะใช้วิธีการนำไอเดียมาปรับใช้กับโมเดลธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ทำให้เกิดเป็นธุรกิจในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองและแก้ปัญหา เติมเต็มความต้องการในชีวิตประจำได้อย่างเต็มที่ “และแน่นอนว่าการดำเนินธุรกิจ Startup บนอินเตอร์เน็ตจะสามารถเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ จุดนี้อาจจะแตกต่างกันกับธุรกิจประเภท SMEs ซึ่งอาจจะต้องมีร้าน มีโรงงาน ในการดำเนินธุรกิจ”
  2. Startup ไม่จำเป็นต้องมีพนักงาน หรือผู้ร่วมงานมาก ส่วนมากจะดำเนินงานเพียง 2-3 คนก็เพียงพอ เพราะเป็นการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ตและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการลดการสิ้นเปลืองบุคลากรได้อย่างดี แต่สำหรับ SMEs แล้วนั้นจำเป็นที่ต้องมีหลายฝ่ายในการดูแลไม่ว่าจะเป็นส่วนงานขาย งานออฟฟิต งานผลิต และงานบริการ
  3. เรื่องของการลงทุน จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนมากที่สุด เพราะการทำธุรกิจประเภท Startup นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเอง แต่เป็นการนำเสนอไอเดียเพื่อเรียกนักลงทุนมาร่วมลงทุน แต่แตกต่างกับ SMEs ซึ่งส่วนมากจะต้องใช้ทุนส่วนตัวในการสร้างธุรกิจเป็นหลัก

“จากความแตกต่างของธุรกิจทั้งสองประเภทนี้แล้วนั้น หลายคนอาจจะมองว่าธุรกิจประเภท Startup นั้นมีแต่ข้อดี และน่าจะทำรายได้ได้มากกว่า SMEs  แต่สำหรับส่วนตัวผมคิดว่าธุรกิจทั้งสองประเภทก็มีความยาก และจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ความถนัดและช่องทาง โอกาสในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการมากกว่าครับ”